เมนู

ก็แล ภิกษุผู้ฉลาดในพระวินัย ชื่ออาภิธรรมิกโคทัตตเถระ ก็มีอยู่ในสันนิบาต
นั้นด้วย. พระเถระนั้น กล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุรูปนี้ลักกระบวยนี้ในที่ไหน ?
ภิกษุทั้งหลายเรียนว่า เธอลักที่ประเทศคาบฝั่งสมุทร. พระเถระถามว่า ที่
ประเทศนั้น กระบวยนี้ มีค่าเท่าไร ? ภิกษุทั้งหลายเรียนว่า ไม่มีค่าอะไร ๆ.
พระเถระกล่าวว่า ความจริง ที่ประเทศนั้น พวกประชาชนปอกมะพร้าวเคี้ยว
กินเยื่อข้างใน แล้วก็ทิ้งกระลาไว้, ก็กระลานั้นกระจายอยู่เพื่อเป็นฟืน ( เท่า
นั้น ). พระเถระถามต่อไปว่า หัตถกรรมในกระบวยนี้ ของภิกษุรูปนี้ มีค่า
เท่าไร ? ภิกษุทั้งหลายเรียนว่า มีค่าหนึ่งมาสก หรือหย่อนกว่าหนึ่งมาสก.
พระเถระถามว่า ก็มีในที่ไหนบ้าง ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบัญญัติ
ปาราชิกไว้ เพราะหนึ่งมาสก หรือหย่อนกว่าหนึ่งมาสก ? เมื่อพระเถระกล่าว
อย่างนี้แล้ว ก็ได้มีสาธุการเป็นอันเดียวกันว่า ดีละ ๆ พระคุณท่านกล่าวชอบ
แล้ว วินิจฉัยถูกต้องดีแล้ว. ก็คราวนั้น แม้พระเจ้าภาติยราช ก็เสด็จออกจาก
พระนครเพื่อถวายบังคมพระเจดีย์ ได้สดับเสียงนั้น จึงตรัสถามว่า นี้เรื่อง
อะไรกัน ครั้นได้สดับเรื่องทั้งหมดตามลำดับแล้ว จึงทรงรับสั่งให้เที่ยวตีกลอง
ประกาศในพระนครว่า เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ อธิกรณ์ของพวกภิกษุบ้าง พวก
ภิกษุณีบ้าง พวกคฤหัสถ์บ้าง ที่พระอาภิธรรมิกโคทัตตเถระตัดสินแล้ว เป็น
อันตัดสินถูกต้องดี เราจะลงราชอาญาคนผู้ไม่ตั้งอยู่ในคำตัดสินของท่าน. พึง
สอดส่องถึงประเทศอย่างนี้.

[

พระวินัยธรควรสอดส่องราคาและการใช้สอย

]
ฐานะว่า ราคา คือ ราคาของ. ด้วยว่า ภัณฑะใหม่ ย่อมมีราคา
ภายหลัง ราคาย่อมลดลงได้. เหมือนบาตรที่ระบมใหม่ ย่อมมีราคาถึง 8 หรือ
10 กหาปณะ, ภายหลัง บาตรนั้น มีช่องทะลุ หรือถูกหมุดและปมทำลาย

ย่อมมีราคาน้อย ฉะนั้น. เพราะฉะนั้น พระวินัยธรไม่พึงตีราคาของด้วยราคา
ตามปกติเสมอไป ทีเดียวแล. พึงสอดส่องถึงราคาอย่างนี้.
ฐานะว่า การใช้สอย คือ การใช้สอยภัณฑะ. ด้วยว่าราคาของภัณ-
ฑะมีมีดเป็นต้น ย่อมลดราคาลง แม้เพราะการใช้สอย. เพราะฉะนั้น พระ
วินัยธรควรพิจารณาอย่างนี้ ; คือ ถ้าภิกษุบางรูปลักมีดของใคร ๆ มา ซึ่งมี
ราคาได้บาทหนึ่ง, บรรดาเจ้าของและผู้มิใช่เจ้าของมีดเหล่านั้น พระวินัยธร
พึงถามเจ้าของมีดว่า ท่านซื้อมีดนี้มาด้วยราคาเท่าไร ? เจ้าของมีด เรียนว่า
บาทหนึ่งขอรับ !. พระวินัยธร ถามว่า ก็ท่านซื้อมาแล้วเก็บไว้ หรือใช้มีดบ้าง.
ถ้าเจ้าของมีดเรียนว่า ผมใช้ตัดไม้สีฟันบ้าง สะเก็ดน้ำย้อมบ้าง ฟืนระบมบาตร
บ้าง ดังนี้ไซร้ คราวนั้น พระวินัยธรพึงทราบว่า มีดนั้นเป็นของเก่า มีราคา
ตกไป มีดย่อมมีราคาตกไป ฉันใด, ยาหยอดตาก็ดี ไม้ป้ายตาหยอดตาก็ดี
กุญแจก็ดี ย่อมมีราคาตกไป ฉันนั้น แม้เพราะเหตุเพียงถูขัดทำให้สะอาด
ด้วยใบไม้ แกลบ หรือด้วยผงอิฐเพียงครั้งเดียว. ก้อนดีบุกย่อมมีราคาตกไป
เพราะการตัดด้วยฟันมังกรบ้าง เพราะเพียงการขัดถูบ้าง, ผ้าอาบน้ำ ย่อมมี
ราคาตกไป เพราะการนุ่งห่มเพียงครั้งเดียวบ้าง เพราะเพียงพาดไว้บนจะงอย
บ่าบ้าง หรือบนศีรษะ โดยมุ่งถึงการใช้สอยบ้าง, วัตถุทั้งหลายมีข้าวสารเป็นต้น
ย่อมมีราคาตกไป เพราะการฝัดบ้าง เพราะการคัดออกทีละเม็ดหรือสองเม็ด
จากข้าวสารเป็นต้นนั้นบ้าง โดยที่สุด เพราะการเก็บก้อนหินและก้อนกรวดทิ้ง
ทีละก้อนบ้าง, วัตถุทั้งหลายมีเนยใสและน้ำมันเป็นต้น ย่อมมีราคาตกไป
เพราะการเปลี่ยนภาชนะอื่นบ้าง โดยที่สุด เพราะเพียงเก็บแมลงวันหรือมดแดง
ออกทิ้งจากเนยใสเป็นต้นนั้นบ้าง, งบน้ำอ้อย ย่อมมีราคาตกไป แม้เพราะ
เพียงเอาเล็บเจาะดู เพื่อรู้ความมีรสหวาน แล้วถือเอาโดยอนุมาน. เพราะ

ฉะนั้น สิ่งของชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่มีราคาถึงบาท ซึ่งเจ้าของทำให้มีราคา
หย่อนไป เพราะการใช้สอย โดยนัยดังที่กล่าวแล้วนั่นแหละ พระวินัยธร ไม่
ควรปรับภิกษุผู้ลักภัณฑะนั้นถึงปาราชิก. พึงสอดส่องถึงการใช้สอยอย่างนี้.
พระวินัยธรผู้ฉลาด พึงสอบสวนฐานะ 5 เหล่านี้ อย่างนี้แล้วพึง
ทรงไว้ซึ่งอรรถคดี คือ พึงตั้งไว้ซึ่งอาบัติ ครุกาบัติหรือลหุกาบัติ ในสถาน
ที่ควรแล.
วินิจฉัยบทเหล่านี้ คือ ตู่ ลัก ฉ้อ ให้อิริยาบถกำเริบ ให้เคลื่อน
จากฐาน ให้ล่วงเลยเขตกำหนดหมาย จบแล้ว.


[

อรรถาธิบายทรัพย์ที่ควรแก่ทุติยปาราชิก

]
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงจำแนกบทมีว่า ยถารูเป อทินฺ-
นาทาเน
เป็นต้น จึงตรัสคำว่า ยถารูปนฺนาม เป็นต้นนี้. จะวินิจฉัย
ในคำว่า ยถารูปํ เป็นต้นนั้น :- ทรัพย์มีตามกำเนิด ชื่อว่า ทรัพย์เห็น
ปานใด. ก็ทรัพย์มีตามกำเนิดนั้น ย่อมมีตั้งแต่บาทหนึ่งขึ้นไป; เพราะเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า บาทหนึ่งก็ดี ควรแก่บาทหนึ่งก็ดี เกินกว่าบาท
หนึ่งก็ดี. ในศัพท์ว่า ปาทเป็นต้นนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเฉพาะ
อกัปปิยภัณฑ์ เท่าส่วนที่ 4 แห่งกหาปณะ ด้วยปาทศัพท์ ทรงแสดงกัปปิย-
ภัณฑ์ ได้ราคาบาทหนึ่ง ด้วยปาทารหศัพท์ ทรงแสดงกัปปิยภัณฑ์และอกัป-
ปิยภัณฑ์แม้ทั้งสองอย่าง ด้วยอติเรกปาทศัพท์. วัตถุพอแก่ทุติยปาราชิกเป็น
อันทรงแสดงแล้ว โดยอาการทั้งปวง ด้วยศัพท์เพียงเท่านี้. พระราชาแห่ง
ปฐพีทั้งสิ้น คือ เป็นจักรพรรดิในทวีป เช่นพระเจ้าอโศก ชื่อพระราชาทั่ว
ทั้งแผ่นดิน, ก็หรือว่า ผู้ใดแม้อื่น ซึ่งเป็นพระราชาในทวีปอันหนึ่ง เช่น
พระราชาสิงหล ผู้นั้น ก็ชื่อพระราชาทั่วทั้งแผ่นดิน.